หน้าแรก

อุดมการณ์พระธรรมทูตไทย




 ในสมัยพุทธกาลวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนามีพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลาง จึงไม่มีปัญหามากนัก เพราะถ้าเกิดปัญหาพระพุทธเจ้าก็ประชุมสงฆ์บัญญัติวินัยเป็นข้อห้ามไว้ ส่วนการเผยแผ่ของพระพุทธเจ้านั้น มีพุทธลีลาในการสอนที่ประยุกต์เข้ากับยุคสมัยได้เป็นอย่างดี แต่พอกาลเวลาเปลี่ยนไป วิธีการที่เคยใช้ได้ผลอาจจะต้องมีการปรับปรุงบ้าง ยิ่งในยุคไซเบอร์มีสารจำนวนมากที่สื่อออกไปยังประชาชน เพียงแต่ใช้โปรแกรมค้นหาก็สามารถทราบข้อมูลแทบทุกอย่างที่ต้องการได้ใช้เวลาไม่นานทุกอย่างอยู่ที่ปลายมือ แต่มีปัญหาตามมาคือเราไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นถูกต้องตามข้อเท็จจริงหือไม่ ส่วนหนึ่งมาจากผู้ส่งสารที่จะสื่ออกไป
              นักเผยแผ่จึงต้องศึกษาศิลปะในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และควรดำเนินรอยตามแนวการสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งมีลีลาในการสอนหรือ พุทธลีลาในการสอน หรือเทศนาวิธี การสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้ง แม้ที่เป็นเพียงธรรมีกถา หรือการสนทนาทั่วไป ซึ่งมิใช่คราวที่มีความมุ่งหมายเฉพาะพิเศษ ก็จะดำเนินไปอย่างสำเร็จผลดีโดยมีองค์ประกอบที่เป็นคุณลักษณะ 4 ประการคือ
              1. สันทัสสนา ชี้ให้ชัด จะสอนอะไร ก็ชี้แจงแสดงเหตุผล แยกแยะอธิบายให้ผู้ฟังเข้าใจ แจ่มแจ้ง ดังจูงมือไปเห็นกับตา การเผยแผ่ธรรมธรรมในโลกนี้มีคนดีและคนชั่ว ดีเพราะอะไรเพราะกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ คนชั่วเพราะ โลภะ โทสะ โมหะ ธรรมภาคปฏิบัติ คือ อริยสัจสี่ ถ้าเรามีศิลปะก็ประยุกต์ได้เช่นเมื่อหิว ก็รับประทานจนอิ่ม หิว คือ ทุกข์ เหตุแห่งความหิวคือสมุทัย รับประทาน คือ มรรค อิ่ม คือ นิโรธ ธรรมะสามารถอธิบายได้ แม้ด้วยเหตุธรรมดา แต่เราต้องชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน  อย่างการสอนเรื่องศีลห้า หัวใจของศีล คือ เมตตาซึ่งเป็นส่วนที่เกื้อหนุนกัน เราจะพูดเรื่องเมตตาก็ได้ พูดเรื่องศีลก็ได้ เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะถ้าคนมีเมตตาก็ไม่ฆ่าสัตว์ จากนั้นศีลข้ออื่นก็จะตามมา ที่พระพุทธเจ้าสอนมากเพราะท่านอยู่นาน แต่สอนไม่กี่เรื่องจึงต้องใช้พุทธศิลป์ในการเผยแผ่แท้จริงก็อยู่ที่ดี หรือชั่ว ละบาป บำเพ็ญบุญ และทำจิตให้ผ่องแผ้ว ธรรมนั้นจะสรุปให้สั้นก็ได้ จะขยายให้ยาวก็ได้ ถ้าเข้าใจสาระจริง ๆ ของธรรม การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในปัจจุบันแม้จะปรากฎทางอินเทอร์เน็ต ก็ต้องยึดหลักการนี้ คือ ต้องให้มีความชัดเจน
              2. สมาทปนา ชวนให้ปฏิบัติ คือ สิ่งใดควรทำ ก็บรรยายให้มองเห็นความสำคัญ และซาบซึ้งในคุณค่า เห็นสมจริง จนผู้ฟังยอมรับ อยากลงมือทำ หรือนำไปปฏิบัติ เช่นสอนเรื่องสติ สอนเรื่องการข้ามถนนของคนก็ได้ คนขาดเงินยังสามารถข้ามถนนได้ แต่ถ้าขาดสติจะข้ามถนนไม่ได้เป็นต้น
              3. สมุตเตชนา เร้าให้กล้า คือ ปลุกใจให้คึกคัก เกิดความกระตือรือร้นมีกำลังใจแข็งขัน มั่นใจที่จะทำให้สำเร็จ ไม่กลัวเหน็ดเหนื่อยหรือยากลำบาก การเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางอินเทอร์เน็ตก็ต้องปลุกเร้าให้ผู้รับสารเกิดความเชื่อมั่น อย่านำเสนออะไรให้มีความยาวมากเกินไป ต้องจับประเด็นให้ได้เช่นข่าวที่คนกำลังสนใจในปัจจุบัน คืออะไรต้องนำมาวิเคราะห์ ทำให้ผู้รับสารได้คิด และต้องเสริม เติมแต่งเชื่อมโยงกับธรรมะได้ ภาษาใหม่ที่ใช้ในปัจจุบันเรียกว่าบูรณาการ ซึ่งก็คือ องค์รวม หรือสังขารนั่นเอง
              4. สัมปหังสนา ปลุกให้ร่าเริง คือ ทำบรรยากาศให้สนุกสดชื่น แจ่มใสเบิกบานใจ ให้ผู้ฟังแช่มชื่น  มีความหวัง มองเห็นผลดี และทางสำเร็จ ในโลกไซเบอร์ แม้ว่าผู้ส่งสารและผู้รับสารจะไม่ได้อยู่ต่อหน้า แต่ก็ศึกษาผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ การสื่อสารต้องใช้บรรยากาศ คือ ทำให้เพลิดเพลิน ต้องให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร

 ในอรรถกถาได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าข้อ 1 ปลดเปลื้องความเขลา หรือความมืดมัว ข้อ 2 ปลดเปลื้องความประมาท ข้อ 3 ปลดเปลื้องความเกียจคร้าน และข้อ 4 สัมฤทธิ์การปฏิบัติ หลักการทั้งสี่อย่างสรุปได้ง่าย ๆ ว่า “ชี้ให้ชัด ชวนให้ปฏิบัติ เร้าให้กล้า ปลุกให้ร่าเริง” หรือ “แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง” งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน เราก็ต้องต้อสู้กับอิทธิพลของ “การสื่อสาร มนุษย์ เงินตรา และเทคโนโลยี” ซึ่งกำลังครอบงำสังคมไทย ในอนาคตเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักเผยแผ่จึงต้องทนต่อกระแสทั้งสี่ประการนี้ให้ได้ ยิ่งในโลกไซเบอร์ ยิ่งมีประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกหลายประการ



หลักการของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา
               การเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น ในแต่ละยุคแม้จะมีรูปแบบ กระบวนการและประสิทธิผลที่แตกต่างกันตามบริบทของสังคมในยุคนั้น แต่พระพุทธเจ้าก็ได้วางหลักการสำคัญไว้สำหรับนักเผยแผ่ไว้ดังที่ปรากฏในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต( 22/159/187) เรียกว่า ธรรมเทสกธรรมหมายถึงธรรมของนักเทศก์ องค์แห่งธรรมกถึก หรือธรรมที่ผู้แสดงธรรม หรือสั่งสอนคนอื่นควรตั้งไว้ในใจ ประกอบด้วย
              1.อนุปุพฺพิกถํ หมายถึงกล่าวความไปตามลำดับ คือ แสดงหลักธรรมหรือเนื้อหาวิชาตามลำดับความง่ายยากลุ่มลึก มีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ
              2.ปริยายทสฺสาวี หมายถึง ชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัดในแต่ละแง่แต่ละประเด็น โดยอธิบายขยายความ ยักเยื้องไปต่างๆ ตามแนวเหตุผล
              3.อนุทยตํ ปฏิจฺจ หมายถึง แสดงธรรมด้วยอาศัยเมตตา คือ สอนเขาด้วยจิตเมตตา มุ่งจะให้เป็นประโยชน์แก่เขา
              4.น อามิสนฺตโร หมายถึง ไม่แสดงธรรมด้วยเห็นแก่อามิส คือ สอนเขามิใช่เพราะมุ่งที่ตนจะได้ลาภ หรือผลประโยชน์ตอบแทน
              5.อตฺตานญฺจ ปรญฺจ อนุปหจฺจ หมายถึง แสดงธรรมไม่กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักตามเนื้อหา มุ่งแสดงธรรม แสดงธรรม ไม่ยกตน ไม่เสียดสีข่มขี่ผู้อื่น


 ในโลกแห่งอินเทอร์เน็ต แม้จะไม่ใช่การแสดงธรรมโดยตรง แต่บางครั้งก็มีทั้งภาพและเสียงของผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร อาจประยุกต์ให้เข้ากับเหตุการณ์ แต่ก็ต้องยึดตามหลักการของพระพุทธศาสนา อีกแห่งหนึ่งได้กำหนดหลักการของนักเผยแผ่ไว้อย่างชัดเจนในโอวาทปาฏิโมกข์ ทีฆนิกาย มหาวรรค(10/54/48)ความว่า “ขันติ คือ ความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพาน เป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่นผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ที่นอนที่นั่งอันสงัด การประกอบความเพียรในอธิจิตหกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
              นักวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนาได้อธิบายความพุทธพจน์บทนี้ว่าเป็นหลักการสำคัญของนักเผยแผ่ เพราะโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึง จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ของพระพุทธศาสนาไว้อย่างครบถ้วน ดังนี้
         1.อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา คือ ขันติ ได้แก่ ความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่าพระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่นผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่า เป็นสมณะเลย อุดมการณ์สุดยอดของพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน
              2.หลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีนัยตามที่ปรากฏในโอวาทปาฏิโมกข์พระคาถาที่สอง           ทรงแสดงหลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไว้ 3 ประการ คือ
                  2.1 สพฺพปาปสฺส อกรณํ หมายถึงการไม่ทำบาปทั้งสิ้น ไม่ทำความชั่วโดยประการทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ
                  2.2 กุสลสฺสูปสมฺปทา หมายถึงการยังกุศลให้ถึงพร้อมคือทำความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ การไม่ทำความชั่วนั้น จะเรียกว่า เป็นคนดียังไม่ได้ การเป็นคนดี จะต้องทำความดี ทั้งทางกาย วาจา ใจ มิฉะนั้นแล้ว คนปัญญาอ่อน คนเป็นอัมพาต เป็นต้น ก็จะเป็นคนดีไปหมด
                  2.3 สจิตฺตปริโยทปนํ หมายถึงการทำจิตของตนให้ผ่องใส คือการชำระจิตใจให้สะอาด ผ่องใส สงบ




  3.วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีนัยตามที่ปรากฏในโอวาทปาฏิโมกข์พระคาถาที่สอง ในการที่จะทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นต้องฝึกอบรมตนแบบต่อเนื่อง ให้เกิดมรรคสามัคคี คือ อริยมรรคมีองค์ 8 รวมพลังกัน เหมือนเชือก 8 เกลียว หรือให้มี ศีล สมาธิ และปัญญา รวมพลังกัน เหมือนเชือก 3 เกลียว พัฒนากาย วาจา ใจ ให้พูดดี ทำดี คิดดี ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ ราคะ โมสะ โมหะ ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส ตัณหา หรือความใคร่ ความอยากมี อยากเป็น แบบมืดบอด ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ที่มันเป็นไปไม่ได้ เช่น ไม่อยากเป็นคนเสื่อมลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นต้น โดยอาศัยวิธีการดังต่อไปนี้
                  3.1 อนูปวาโท ได้แก่การไม่กล่าวร้าย ฝึกวาจา ระวังเสมอ มิให้กล่าวคำเท็จ คำหยาบ คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ
                  3.2 อนูปฆาโต ได้แก่การไม่ทำร้าย ฝึกกาย ระวังเสมอมิให้มีการฆ่า ทำลายชีวิต ตลอดจนถึงการเบียดเบียนทางกาย  
                  3.3 ปาฎิโมกฺเข จ สํวโร ได้แก่ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ละเว้นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสห้ามไว้ และทำตามข้อที่พระพุทธองค์อนุญาต
                  3.4 มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺสมึ ได้แก่ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ตลอดจนรู้จักประมาณในการใช้สอยปัจจัย 4 ประการ
                  3.5 ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ได้แก่ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ฝึกตนอย่างจริงจัง ในที่ที่สงัดจากสิ่งรบกวน
                  3.6 อธิจิตฺเต จ อาโยโค สจิตฺตปริโยทปนํ ได้แก่ การประกอบความเพียรในอธิจิต คือ หมั่นภาวนา อยู่เสมอ คือ พัฒนาตนเองให้พ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหา การภาวนา หมายถึง การใช้ทั้งสมาธิ และวิปัสสนา แก้ปัญหา หรือจัดการกับกิเลส เป็นการตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ มิให้จิตใจเศร้าหมอง ให้จิตใจผ่องใสอยู่เสมอ
             อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ ที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศไว้จะเป็นไปด้วยดี และบรรลุวัตถุประสงค์ที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายไว้นั้น พระองค์ได้ย้ำเตือนไว้ว่า จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นอย่างบรรพชิต และเป็นอย่างสมณะ คือ เว้นจากความชั่วทุกประการ และเป็นผู้ปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่าง เพื่อระงับบาปอกุศล ได้แก่ ผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นอริยบุคคล ทั้งไม่เบียดเบียนและไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่คนที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบทั้งหลาย


หลักการนี้ทั้งหมดเป็นทั้งการพัฒนาตน การเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางอีกด้วย หลักสำคัญของนักเผยแผ่อยู่ที่วิธีการที่จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ คือ“ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย สำรวมในพระปาติโมกข์ รู้ประมาณในภัตตาหาร เลือกที่นอนที่นั่งอันสงัด และประกอบความเพียรในอธิจิต” นักเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงมีกรอบตามที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้แล้ว
      การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากสมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบันนั้น นักเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ยึดอุดมการณ์ หลักการ วิธีการและอุดมคติในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาโดยตลอด จนทำให้พระพุทธศาสนาแผ่กระจายไปยังชาวโลก ส่วนหนึ่งที่มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคสมัยคือสื่อที่ใช้ในการเผยแผ่ ในยุคแรกใช้สื่อที่เรียกว่ามุขปาฐะ จากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นจารึกตามผนังถ้ำ พิมพ์ตัวอักษรลงบนหนังสือ นำเสนอเสียงทางสถานีวิทยุ เผยแผ่โดยใช้ภาพและเสียงทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ จนกระทั่งยุคสมัยปัจจุบันเมื่อสื่อคืออินเทอร์เน็ตได้รับความนิยม การเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็ประยุกต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั่นคือมีการการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางโลกไซเบอร์เกิดเป็นเว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์อีกมากมายหลายประเภท
             แม้ว่าสภาพพื้นที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สื่อที่ใช้ก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงประยุกต์ไปตามยุคสมัย มนุษย์ปรับตัวเข้ากับความเจริญของเทคโนโลยี มีสื่อต่างๆมากมายหลายอย่าง วิธีการในการพระพุทธศาสนาได้ประยุกต์ใช้เพื่อให้สื่อสารเข้าใจกันได้กับคนในยุคสมัย แต่ทว่าหลักการ อุดมการณ์ วิธีการ และจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนายังคงเดิม การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแม้ว่าสื่อจะเปลี่ยนแปลงไป แต่หลักการสำคัญไม่ได้เปลี่ยนไปด้วย เป็นนักเผยแผ่ก็ต้องมีอุดมการณ์
             วันมาฆบูชาจึงถือได้ว่าเป็นการประกาศจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสำหรับพุทธสาวกผู้ที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไว้อย่างชัดเจน เพราะมีจุดหมายจึงยังมีคนดำเนินตาม มีอุดมการณ์จึงทำให้ดำเนินไปถูกทาง ทั้งนี้ก็ต้องไม่ทอดทิ้งหลักการสำคัญ และจะต้องดำเนินตามวิธีการตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ หากนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาขาดอุดมการณ์ ไม่ยึดหลักการ และไม่มีวีการ หลักคำสอนของศาสนาก็จะเป็นเหมือนคัมภีร์โบราณที่ไม่มีใครอยากเปิดอ่าน ไม่นานก็คงจะต้องถูกลืมเลือนไป

               ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) รุ่นที่ 19/2556 ได้ฝึกจากสถานที่จริง คงจะได้ส่งสั่งอบรมอุดมการณ์ หลักการและวิธีการของพระธรรมทูตผู้ทำหน้าที่ทูตแห่งธรรม ที่จะได้นำเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ให้แก่ชาวโลกได้สัมผัสกับสันติสุขต่อไป

No comments:

Post a Comment